บทความที่ได้รับความนิยม

4+1 Members

Monday 12 September 2011

"น้องๆเจอกันที่ห้อง 8-403 นะครับ"

12 กันยายน 2554 ณ ใต้ตึกคณะ จำ ได้ว่าเป็นเวลาประมาณเที่ยงเกือบบ่าย ผมกำลังจะเดินไปกินข้าวเที่ยง ช่วงจากชั้นสี่ลงมาใต้ตึกในหัวสมองก็กำลังเรียบเรียงเรื่องราวที่จะนำมา เขียนตอนต่อไปใน บล็อคบันทึก 4+1 สำนึกรักบ้านเกิด พลันก็เหลือบไปเห็น "พีท" นักศึกษาปี 4 ก็เลยทักทายตามภาษาคนคุ้นเคยที่ได้ไปท่องเที่ยวกันมาหลายทริปในช่วงเทอม ซัมเมอร์ที่ผ่านมา

อาจารย์โทนี่ : อ้าวมาทำไรเนี่ย ไม่มีเรียนนิหว่า
พีท : อ๋อ วันนี้นัดน้องปี 1 ที่สมัครเข้า Office มาสัมภาษณ์ครับ
อาจารย์โทนี่ : เหรอ ดีดี สัมภาษณ์กันที่ไหนละ (ในใจก็แอบปลื้มที่พี่ๆและน้องกระตือรือร้น กับโครงการ 4+1 ขนาดนี้)
พีท : นัดน้องไว้ห้อง 403 ครับ เดี๋ยวคงมากัน
อาจารย์โทนี่ : ถ่ายรูปมาให้ดูด้วยนะ อยากได้ๆ จะเอามาเก็บไว้

หลัง จากจบบทสนทนา ผมก็เดินไปทานข้าวตามปกติ ตลอดช่วงบ่ายก็ทำงานนู้นงานนี้ไป ส่วนเนื้อเรื่องที่จะนำมาเขียนในบล็อคนี้ก็คิดไว้ได้แล้วสองสามเรื่องและ ตั้งใจว่าจะกลับมาเขียนเรื่องราวเหล่านั้นเมื่อถึงบ้าน แต่เมื่อถึงบ้านเปิดเครื่องคอมพ์ ปรากฎว่ารูปที่ขอไปกับพีทก็ถูกแท๊คมาให้ผ่านทางเฟสบุ๊ค เมื่อได้ดูรูปเหล่านี้ก็ทำให้ผมขอลัดคิวเปลี่ยนเรื่องที่อยากเขียนในทันที



บทสนทนาในเฟสบุ๊คกลุ่ม 21 Design Studio

"น้องๆ เจอกันที่ห้อง 8-403 นะครับ" เป็นประโยคที่ผมเข้าไปเห็นในเฟสบุ๊คของพี่ๆ กลุ่มนี้ หลายๆ คนเมื่ออ่านประโยคนี้ อาจจะมองผ่านๆ ไป แต่สำหรับผมกลับรู้สึกดีมาก รู้สึกดีที่ได้เห็นความเติบโตและวุฒิภาวะของเหล่านักศึกษาชั้นปี 4 ได้เห็นพี่ที่ดี พี่ที่พร้อมจะคอยดูแลและถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมาสู่น้องปี 1 ทั้งที่จริงๆ แล้วพี่ปี 4 ยังไม่ต้องพบน้องก่อนก็ได้เพราะตามกำหนดการสำหรับโครงการนี้จะเริ่มเปิด อย่างเป็นทางการ น้องและพี่จะมาพบกันในวันที่ 23 กันยายน 2554

จริงๆ แล้วไม่ได้มีเพียงแค่พี่กลุ่มนี้เท่านั้นที่เริ่มพบปะน้อง มีพี่ปี 4 อีกหลายกลุ่มที่ได้เริ่มดำเนินการนัดน้องพบปะพูดคุยกับน้อง มีอีกหลายกลุ่มที่ผมได้เข้าไปดูในเฟสบุ๊คกลุ่มมีการสนทนาโต้ตอบกับน้อง มีการนัดน้องเจอกันตามที่ต่างๆ หรือภายในตึกคณะฯ ตามมุมโต๊ะ ตามห้องต่างๆ ผมก็ได้เห็นพี่ๆ หลายคนเริ่มสอน เริ่มอธิบาย หรือพูดคุยเรื่องต่างๆ ไม่เพียงแค่เรื่องเกี่ยวกับโครงการ 4+1 เท่านั้น แต่มีอีกหลายเรื่องหลายแง่มุมที่พี่ปี 4 ได้ถ่ายทอดให้น้องๆ ฟัง ทำให้ผมรู้สึกถึงบรรยากาศที่ดี บรรยากาศที่อบอุ่น บรรยากาศของวันวานที่จางหายไปจากคณะเรา


พี่ๆ กำลังพูดคุยกับน้อง ณ ห้อง 8-403 รูปพวกนี้ละครับที่ทำให้เป็นที่มาของเรื่องที่เขียนในตอนนี้

น้องๆปี 1 ที่สมัครเข้ากลุ่ม

ผลงานของน้องปี 1 ที่นำมาแสดงให้พี่ปี 4 พิจารณา

พอมีน้องแล้วดูเป็นผู้ใหญ่อย่างน่าตกใจ

อ.วิทูล ขอร่วมวง

นี่่ เป็นหนึ่งในเรื่องราวดีๆ จากโครงการ 4+1 สำนึกรักบ้านเกิด Season 2 ผมอยากจะบอกนักศึกษาปี1 และ นักศึกษาปี 4 ว่า "น้องๆ ศุกร์ที่ 23 เจอกันที่ห้อง 8-401 นะครับ"

บันทึกเรื่องราวโดย มนต์ชัย บุญยะวิภากุล

Sunday 11 September 2011

"ค่ายสีน้ำ" เพาะเมล็ดพันธุ์ ต้นกล้าปี1 ก่อน +4

หนึ่ง ในกิจกรรมที่สำคัญของโครงการ 4+1 สำนึกรักบ้านเกิด คือการที่พี่ปี 4 กับ น้องปี1 ลงสำรวจ เก็บข้อมูล และ ทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน ในพื้นที่ๆพี่และน้องได้ร่วมกันเลือกมา การลงไปสำรวจและคลุกคลีกับชุมชนในท้องถิ่นนั้นทางคณะฯ ได้เล็งเห็นว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่จะก่อให้เกิดผลดีต่อการศึกษาและวงการ สถาปัตยกรรมของประเทศไทยในอนาคต แต่การจะลงชุมชนนั้นนักศึกษาก็ต้องมีการเตรียมตัว มีทักษะในการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ รู้จักวิธีการเก็บข้อมูลจากสภาพแวดล้อมจริง เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการปฏิบัติงานในขั้นต่อๆ ไป

ภาพสีน้ำบันทึกภาพการรวมกลุ่มนักศึกษา โดย ผศ.สุดจิต สนั่นไหว

สำหรับ นักศึกษาปี 1 ซึ่งเป็นน้องใหม่ของคณะฯ เริ่มศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรมมาเพียงแค่ 1 เทอม เรียกได้ว่าเป็นมือใหม่หัดขับ เป็นเมล็ดพันธ์ที่กำลังจะงอกเป็นต้นกล้าก้าวสู่ต้นไม้ใหญ่สำหรับวิชาชีพ สถาปัตย์กรรมในอนาคต ทางคณะฯ จึงได้เตรียมดินที่ดี ปุ๋ยอินทรีย์ที่เป็นธรรมชาติอน้ำที่พอเพียงพอและอุณหภูมิที่เหมาะกับต้นกล้า โดยได้มีการบูรณาการกิจกรรมเตรียมความพร้อมของนักศึกษา ในโครงการ "ค่ายสีน้ำ" ซึ่งเป็นโครงการ ทัศนศึกษาเพื่อการพัฒนาการจัดการเรียนการสอน ที่อยู่ในรายวิชา ARC 151 (Computer-Aided Presentation I)

ตลาดบางหลวง ร.ศ.122
เหล่าต้นกล้าเดินสำรวจชุมชน
อ.เขมชาติ (ประธานโครงการค่ายสีน้ำ) กำลังแนะนำวิธีการให้เหล่าต้นกล้า

โครงการ ทัศนศึกษาค่ายสีน้ำในปีนี้ จัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม 2554 ณ ตลาดบางหลวง(ร.ศ.122) อ.บางเลน จ.นครปฐม โดยในปีนี้มีชื่อโครงการว่า "วาดเส้นเขียนสี...เก็บสิ่งดีๆไว้ให้ยั่งยืน" มีนักศึกษาเข้าร่วมในโครงการนี้ 356 คน วัตถุประสงค์หลักของโครงการ เพื่อให้นักศึกษาชั้นปีที่1 ได้เรียนรู้การปฏิบัติงานเป็นหมู่คณะในการเก็บข้อมูลจากสภาพแวดล้อมจริงใน พื้นที่ชุมชนเพื่อนำเสนองานสถาปัตยกรรมด้วยเทคนิคการนำเสนอประเภทต่างๆ นอกจากเรื่องการฝึกทักษะในการเก็บข้อมูลและการนำเสนอแล้ว สิ่งที่เกี่ยวกับโครงการ 4+1 สำนึกรักบ้านเกิดคือการที่โครงการนี้เป็นโครงการที่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ได้ทดลองลงชุมชน ปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ฝึกการเก็บข้อมูลในเวลาที่กำหนด เรียกได้ว่าเป็นการเตรียมหยอดเมล็ดพันธุ์ ฝึกความแข็งแรงให้ต้นกล้า ก่อนส่งให้พี่ปีที่ 4 ที่จะเป็นผู้รับช่วงต่อ ในการช่วยดูแลเหล่าต้นกล้าทางสถาปัตย์ให้งอกงาม เติบใหญ่ เป็นต้นไม้ที่แข็งแรง ต่อไปในอนาคต และ ต้นไม้เหล้านี้ละครับ ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยกันพัฒนาวงการสถาปัตยกรรม สังคม และ ประเทศชาติของเราในอนาคตโดยไม่หลงลืมชาติพันธุ์ อย่างแท้จริง

เหล่าต้นกล้ากำลังนำเทคนิคที่ได้เรียนมาจากวิชา ARC 151 มาใช้ในการบันทึกข้อมูลกับชุมชน

ไม่เกี่ยงสถานที่แม้หน้าร้านของชำ
สบายๆ ริมน้ำ

เหล่าต้นกล้าทางสถาปัตย์

ปล.ทีมอาจารย์ออกร่วมค่ายสีน้ำปีนี้บอกว่า ต้นกล้าของเราปีนี้แข็งแรง พร้อมสำหรับเติบใหญ่แล้วครับ

บันทึกเรื่องราวโดย มนต์ชัย บุญยะวิภากุล

Thursday 8 September 2011

ปรับเข็มนาฬิกา


2 กันยายน 2554 วันแรกของการเริ่มต้นโครงการ 4+1 สำนึกรักบ้านเกิด Season 2 เป็นวันที่ชี้แจงเกี่ยวกับโครงการ ทั้งทางด้านวัตถุประสงค์ เป้าหมาย กิจกรรมต่างๆที่จะเกิดขึ้น ให้กับนักศึกาษาชั้นปีที่ 4 ที่กำลังจะตั้ง Office สำหรับให้น้องๆ ปี 1 ได้เข้ามาร่วมโครงการ นอกจากนั้นยังได้แสดงปฏิทินแผนการเรียนของนักศึกษาไปล่วงหน้าจนถึงปีข้าง หน้าว่าจะเจออะไรกันบ้าง หลังจากนั้นได้นำหัวข้อหนึ่งมาเป็นประเด็นเล่าเรื่องให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ฟัง คือเรื่อง "เข็มนาฬิกา"


เรื่อง"เข็ม นาฬิกา" เป็นเรื่องที่ได้ฟังมาจาก "คุณตัน ภาสกรนที" ในเดี่ยวโชว์ของคุณตัน (ไม่ได้ไปดูที่จริงครับ แต่ซื้อ DVD แผ่นแท้มาดู) คุณตันได้พูดถึงการทำงานของเข็มนาฬิกาแต่ละเข็มเปรียบเทียบกับการทำงานไว้ ได้น่าฟังและเป็นที่น่าประทับใจจนผมต้องนำมาเล่า
ต่อให้นักศึกษาฟัง คุณตันได้บอกว่าเข็มทุกเข็มนั้นสำคัญแต่ต้องแยกบทบาทให้ชัดเจน
  • เข็ม วินาที เป็นเข็มที่เล็กสุดและเดินเร็วสุดเปรียบเหมือนกับพวกเริ่มต้นทำงาน ยังเป็นลูกน้องเขาอยู่ต้องรู้หน้าที่ตัวเองจัดการตัวเองได้
  • เข็ม นาที เป็นเข็มที่ใหญ่ขึ้นมา ไม่ได้เดินเร็วเหมือนเข็มวินาที เป็นเหมือนหัวหน้างาน หัวหน้าแผนก ต้องรู้จักบริหารงาน มีงานแล้วต้องรู้ว่าจะแจกจ่ายไปที่ลูกน้องคนไหน ถ้าต้องลงไปเดินเร็วแบบเข็มวินาทีก็ผิดละ
  • เข็ม ชัวโมง เป็นเข็มที่ใหญ่สุด ทรงพลังที่สุด เราจะไม่ทันสังเกตุเห็นว่าเข็มนี้เดิน เปรียบเหมือน CEO ขององค์กร สิ่งสำคัญสุดของเข็มนี้คือการตัดสินใจ องค์กรจะกำไร ขาดทุน ประสพความสำเร็จ หรือ ล้มเหลวขึ้นกับการตัดสินใจของเข็มนี้ ถ้าเอาเข็มนี้ไปใช้ผิดประเภท ให้เดินแบบเข็มวินาทีไม่นานถ่านก็จะหมด
แต่ไม่ว่าเข็ม ไหนจะมีบทบาทยังไง แต่ก็มีเป้าหมายเดียวกันคือรูตรงกลางนาฬิกา เปรียบเหมือนองค์กรเรา บริษัทเรา ถ้าเข้าใจเป้าหมาย เข้าใจบทบาท การทำงานก้จะประสบความสำเร็จไปด้วยดี

สาเหตุ ที่นำประเด็นเรื่อง"เข็มนาฬิกา" มาพูดให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ฟังก็คือ อยากให้นักศึกษาเข้าใจว่าสำหรับในโครงการที่บูรณาการเรียนการสอนในวิชาที่ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการวางแผนกลยุทธ์ การบริหารจัดการ นักศึกษาจะต้องปรับตัวเอง จากเข็มวินาที จากที่ตลอดสามปีที่ผ่านมานักศึกษาดูแลแค่งานโปรเจคหรืองานออกแบบของตัวเอง ปรับตัวเองสู่เข็มนาที เปลี่ยนตัวเองสู่นักวางแผน นักจัดการ วางกลยุทธ์ต่าง ฝึกการดูแลน้องๆปี 1 ที่เลือกมาทำงานโครงการร่วมกับบริษัทของพี่ๆ


ภาพ กลุ่มสำนักงานออกแบบของนักศึกษาปี 4


ทักษะ เหล่านี้ เป็นการเตรียมตัวสำหรับนักศึกษาปี 4 ที่ต้องไปสหกิจ (ฝึกงาน 4 เดือน) ในช่วงระยะเวลาไม่ถึงปีนับจากนี้ เมื่อเข้าไปทำงานจริงๆ เริ่มต้นเป้นเข็มวินาที่ในสถานที่เริ่มต้นทำงาน นักศึกษาจะได้เข้าใจว่าพี่ๆในองค์กรที่เป็นเข็มนาที เข็มชั่วโมง เขามีวิธีคิดแบบไหนกันอยู่ เข็มวินาทีน้อยๆ อย่างเราจะได้ไม่เดินหมุนหลุดออกจากศูนย์กลาง

แค่วันชี้แจงให้พี่ปี4 ฟังก็เป็นเรื่องเป็นราวขนาดนี้ Season 2 นี้ รับรองสนุกแน่ครับ
 

4+1 Office Studio 2011

21 DESIGN STUDIO
Creatique Studio

 
5SCAPE Studio
DOTPLAN0.9 Studio



21plus Studio
A5 Studio

 
Everyday studio
G Studio

HIGH AM DUMP Studio
I'm 4 Plus 1 Studio

 

Limited Studio
Nameless Studio


No. 8 Studio
RARE Architect Studio


RHINO STUDIO
Room No.105 Studio

Tam Feel's Studio
S2 S2DO Studio 
SATURDAY studio 
 

ความเตี้ยคงจะดีนะ Studio 
ICONNIC STUDIO
SD.Studio Studio
 slow team architect Studio